สาระสำคัญในแนวคิดและทฤษฎีการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

      โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำรินั้น มีอยู่มากมายหลากหลายประเภทแตกต่างกันไปตามลักษณะและวัตถุประสงค์ของโครงการนั้น ๆ ซึ่งส่วนมากจะเป็นการแก้ไขปัญหาและพัฒนาด้านการทำมาหากินของประชาชนเป็นสำคัญ และดังที่ทราบกันดีว่าส่วนใหญ่ของประชากรของประเทศไทยยังยังชีพอยู่ด้วยการทำเกษตรกรรม ดังนั้น โครงการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริจึงเกี่ยวข้องอยู่กับเรื่องของการพัฒนาปัจจัยการผลิตต่างๆ เช่น ดิน น้ำ ที่ทำกิน ทุน และความรู้ด้านเกษตรกรรม การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ เป็นต้น และดังได้กล่าวมาแล้วในเบื้องต้นไม่ว่าจะเป็นแนวคิดและทฤษฎีในงานสาขาใดที่ได้พระราชทานพระราชดำริเพื่อการแก้ไขปรับปรุง และพัฒนาไว้ หลักสำคัญของทุกเรื่องก็คือความเรียบง่ายดังที่ได้ทรงใช้คำว่า “Simplify” หรือ “Simplicity” จะต้องเรียบง่ายไม่ยุ่งยากสลับซับซ้อน ทั้งในแนวความคิดและด้านเทคนิควิชาการจะต้องสมเหตุสมผล ทำได้รวดเร็ว และสามารถแก้ไขปัญหาให้ก่อประโยชน์ได้จริง ตลอดจนมุ่งไปสู่วิถีแห่ง การพัฒนายั่งยืน (Sustainability) อีกด้วย
แนวคิดและทฤษฎีในเรื่องต่างๆ ที่ได้ทรงคิดพิจารณาอย่างถ่องแท้และได้พระราชทานให้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานนั้น จะเป็นประโยคง่ายๆแต่ได้ผ่านการกลั่นกรองมาแล้วเป็นอย่างดี เป็นข้อความง่ายๆ ที่มีความหมายลึกซึ้ง และบางครั้งบ่งบอกถึงวิธีดำเนินการไว้ด้วยอย่างเบ็ดเสร็จในตัวเองเช่นหลักของ
“น้ำดีไล่น้ำเสีย”
“๔ น้ำ ๓ รส”
“แกล้งดิน”
“ป่าสามอย่าง ประโยชน์สี่อย่าง”
“ปลูกป่าแบบไม่ปลูก”
“ขาดทุนเป็นกำไร”
“ทฤษฎีใหม่”
“โครงการแก้มลิง”
“เส้นทางเกลือ”
ฯลฯ
แนวคิดและทฤษฎีของการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งจะนำเสนอให้เห็นเป็นตัวอย่างพอสังเขป ในส่วนที่หนึ่งนี้มุ่งประสงค์พอให้สามารถมองเห็นภาพรวมของสิ่งที่เป็น “แนวคิด” และ “ทฤษฎี”พื้นฐานเบื้องหลังในการทรงงานพัฒนาตามโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระองค์ โดยจะแยกออกตามลักษณะและประเภทของกลุ่มงานใหญ่ๆ เช่น เรื่องที่เกี่ยวกับดิน น้ำ การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การพัฒนาสังคมและการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน ฯลฯ เป็นการปูพื้นฐานให้ติดตามความละเอียดได้ในส่วนที่สอง ซึ่งได้แยกแยะรายละเอียดไว้เป็นการเฉพาะในแต่ละเรื่องตามลำดับต่อไป
– เกี่ยวกับเรื่องดิน
– การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ
– การพัฒนาสังคม
– น้ำดีไล่น้ำเสีย
– ฝนหลวง
– เครื่องดักหมอก
– ทฤษฎีการแก้ไขปัญหาน้ำท่วม