เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่า สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงห่วงใยและสนพระทัยในการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมซึ่ง เกี่ยวข้องต่อการดำรงชีพและคุณภาพชีวิตของปะชาชนเป็นอย่างยิ่ง ความสัมพันธ์อันสลับซับซ้อนของสรรพสิ่งที่ธรรมชาติสร้างไว้ และความหลากหลายของพรรณพืชตลอดจนป่าไม้อันเป็นถิ่นกำเนิด อยู่ในความสนพระทัยของพระองค์มานานแล้ว เมื่อยังทรงพระเยาว์ ทรงโปรดหนังสือเกี่ยวกับธรรมชาติวิทยา และเมื่ออ่านแล้วทรงจดจำเรื่องราวได้หมด ระหว่างโดยเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ เสด็จเยี่ยมพสกนิกรทั่วประเทศ ได้ทรงสังเกตศึกษาธรรมชาติและพรรณไม้อยู่เสมอ ทรงใฝ่ในความรู้และวิทยาการใหม่ๆ มีพระปรีชาสามารถในการสังเกตจดจำเรื่องราวสิ่งต่างๆ ที่ทอดพระเนตร พร้อมทรงจดบันทึกโดยละเอียด
         สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงงานด้านพฤกษศาสตร์อย่างมุ่งมั่น ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินศึกษาธรรมชาติ พรรณพฤกษชาติและป่าไม้ ณ อุทยานแห่งชาติภูเรือ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย เมื่อวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ 2534 ต่อมาได้เสด็จพระราชดำเนินไปตามป่าเขาอันทุรกันดารเพื่อทรงศึกษาพรรณ พฤกษชาติและป่าไม้อย่างจริงจังในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า อุทยานแห่งชาติทางบก อุทยานแห่งชาติทางทะเล และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ต้นน้ำลำธาร อีกหลายครั้งถึงปัจจุบันพระองค์ทรงเกษมสำราญเป็นพิเศษเมื่อได้ประทับแรมตาม ป่าเขาทั้งในเต๊นท์และเรือที่ประทับท่ามกลางธร ราชาติในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จังหวัดอุทัยธานี (23-24 เมษายน 2536), อุทยานแห่งชาติแก่งกระจาน จังหวัดเพชรบุรี (14-15 สิงหาคม 2537) , อุทยานแห่งชาติภูกระดึง จังหวัดเลย (19 ธันวาคม 2537) , หน่วยจัดการต้นน้ำแม่กก ห้วยหมากเลี่ยม จังหวัดเชียงราย (30 มกราคม 2538), อุทยานแห่งชาติทะเลบัน จังหวัดสตูล (27 กันยายน 2538), อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์-หมู่เกาะสิมิลัน จังหวัดพังงา (11-12 พฤศจิกายน 2539) และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย (19 มิถุนายน 2540) พระองค์ทรงมีรับสั่งกับบรรดาพระสหายและผู้ติดตามอยู่เสมอว่า ทรงโปรดศึกษาพรรณไม้และป่าไม้เพราะต้นไม้ไม่หนีไปไหน ไม่เหมือนกับสัตว์ป่าที่ชอบหลบซ่อนตัว ในการเสด็จป่าบ่อยครั้งจะเห็นพระองค์ทรงพลิกใบไม้ไปมาเพื่อทอดพระเนตรอย่าง พินิจพิเคราะห์ ทรงมานะบากบั่นด้วยความยากลำบากตรากตรำพระวรกาย มิได้ทรงย่อท้อต่ออุปสรรคภยันตรายจากสภาพป่าที่รกชัฎ ภูเขาที่สูงลาดชัน โขดหินที่ลื่นตามธารน้ำตกและตัวทาก
        โดยที่ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเป็นนักอักษรศาสตร์ที่เชี่ยวชาญ ทรงนำความรู้ภาษาละตินมาใช้ในการศึกษาพฤกษศาสตร์จำแนกพวก (systematic botany) ในการเรียกชื่อวิทยาศาสตร์พืชได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประกอบกับพระอุปนิสัยที่ช่างสังเกตจดจำสิ่งต่างๆ ที่ทอดพระเนตรได้อย่างแม่นยำ พระองค์จึงทรงเพิ่มพูนประสบการณ์และความเชี่ยวชาญด้านพฤกษศาสตร์เพิ่มมาก ขึ้นเป็นลำดับ นอกจากจดบันทึกชื่อพืช ลักษณะ ประโยชน์และโทษของพืช ระหว่างเสด็จพระราชดำเนินในป่าแล้ว พระองค์จะทรงร่างภาพพรรณไม้ที่น่าสนใจเป็นพิเศษประกอบอีกด้วย นอกจากพระปรีชาสามารถในการจำแนกพรรณพืชแล้ว ยังทรงสนพระทัยและเชี่ยวชาญในพฤกษศาสตร์สาขาอื่นๆ ได้แก่ พฤกษภูมิศาสตร์ (plant geography) พฤกษนิเวศ (plant ecology) พฤกษศาสตร์เศรษฐศาสตร์ (economic botany) และพฤกษศาสตร์พื้นบ้าน (ethnobotany)ดังจะเห็นได้จากพระราชนิพนธ์ของพระองค์ที่ตีพิมพ์ออกมาเป็น ระยะๆ ภายหลังจากการเสด็จพระราชดำเนินป่า และเสด็จทอดพระเนตรหอพรรณไม้และสวนพฤกษศาสตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ บางตอน เช่น
“…บริเวณที่เราเดินกันนี้ มีต้นสนสองใบมากเพราะเป็นเขตหินทราย สนไม่ชอบขึ้นในเขตหินปูน (ภูมิประเทศแบบ Karst ซึ่งจะมีความหลากหลายในพันธุ์หรือ biodiversity สูงก ว่า) เข้าใจว่าต้นไม้ดั้งเดิมของป่าดิบจะถูกตัดไปหมดแล้วประมาณกว่าร้อยปี ต้นแปก (สนสองใบ) เป็นไม้ที่ขึ้นทดแทน อายุประมาณ 50-60 ปี ขณะนี้เขาก็ทำไม้แปกกัน แต่ยังมีการปลูกทดแทน ต้นแปกจะเติบโตได้ดีต้องมีการ “รบกวน” คือมีไฟป่าหรือมนุษย์ ถ้าปล่อยทิ้งไว้เฉยๆ ไม้ป่าดิบคือพวกไม้ใบกว้างจะเจริญเติบโตรุกข้ามา ต้นแปกขยายพันธุ์โดยเมล็ดที่ร่วงลงมา และต้องมีไฟไหม้ พื้นล่างของป่า เมล็ดจึงจะงอกและเติบโต อีกอย่างหนึ่งต้องมีแดด ถ้าไปขึ้นอยู่ใต้ร่มเงาของป่าไม้ดิบก็เติบโตไม่ได้ แต่เจอพืชหลายชนิดที่ไม่เคยพบในไทย เห็นจะมีส่วนmicroclimate ที่ต่างกัน เช่น เครือหัน Bauhinia coccinea เสี้ยวเครือชนิดหนึ่ง ดอกใหญ่สีแดง เหมาะสำหรับปลูกเป็นไม้ประดับ …” (จาก “ม่วนชื่นเมืองลาว” ฉบับปกอ่อน เมษายน 2537 หน้า 263)
“… เดินดูต้นไม้ต่างๆ ต้นโตๆ ทั้งนั้น ต้นไม้ในสวนนี้ถูกพายุเมื่อปี ค.ศ.1968 พัดล้มหลายต้น ป้ายที่ปะต้นไม้ที่นี่ทำละเอียด เริ่มใช้ระบบ card index มาตั้งแต่ปี ค.ศ.1938 เริ่มใช้คอมพิวเตอร์ตั้งแต่ปี 1969 กว่าจะพิมพ์ข้อมูลจากบัตรลงในแผ่น disk ทั้งหมดใช้เวลา 3 ปี ต้องพัฒนาระบบไปด้วยเพราะว่าเทคโนโลยีด้านคิมพิวเตอร์เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ปัจจุบันใช้โปรแกรม BG-Base ซึ่งใช้ในสวนพฤกษศาสตร์หลายแห่งในสหรัฐฯ ข้อมูลที่บันทึกไว้ (ปรากฏในป้ายที่ติดไว้กับต้นไม้ด้วย) เป็นประโยชน์ในการปลูกต้นไม้ งานวิจัยและการอนุรักษ์ ยกตัวอย่างเช่น ต้นกำเนิดของพืช ชื่อผู้เก็บตัวอย่างหรือผู้บริจาค พืชนี้ขึ้นในสิ่งแวดล้อมอย่างไร ที่ไหน เป็นพืชหายาก (endangered, vulnerable, rare) หรือเปล่า ป้ายติดต้นไม้มีข้อมูลชื่อพืชที่นักอนุกรมวิธานตรวจแล้วเขียนไว้ทั้งชื่อวิทยาศาสตร์ ชื่อ family และชื่อสามัญ แหล่งกำเนิด ชื่อผู้เก็บตัวอย่าง หรือชื่อ expedition หมายเลขประจำพืช เครื่องหมายที่บอกว่าเป็นพืชป่า พืชหายาก ฯลฯ ตัวเลข 750538 หมายความว่าเป็น ต้นพืชที่ 538 ที่เก็บในปี ค.ศ.1945…” (จาก “ประพาสอุทยาน”ฉบับปกแข็ง มกราคม 2538 หน้า 193)
“…ขณะที่เดินเห็นลิ้นจี่ป่าต้นโต พูพอนก็ใหญ่ ดูเหมือนห้องน้ำ ลิ้นจี่ป่านี้อาจจะเป็นพืชป่าที่จีนเอาไปปรับปรุงพันธุ์กลับมาขายเราก็เป็นได้…” (จาก”สัปดาห์สบายๆ ใกล้ชายหาด” ฉบับปกอ่อน ธันวาคม 2537 หน้า 35)
“…นอกจากนั้นยังมีพืชอย่างอื่น เช่น ส้ม มะนาว ลูกเดือย ตั้งโอ๋ ผักชี ฝักชีฝรั่ง ผักฮ่อมปอย ผักน้ำ พริก เห็ดบด ผักก้านก่ำ (ก้านเป็นสีแดงเข้า) มะกอก บอน ผักหวาน หน่อไม้ สะค้าน…” (จาก “ลาวใกล้บ้าน” ฉบับปกแข็ง มิถุนายน 2538 หน้าน148)
“…เขามีของเล่นให้ดูอย่างหนึ่งคือต้นไม้เต้นรำ ต้นไม้ชนิดหนึ่ง (ไม้พุ่ม) ภาษาจีนเรียกว่า ฟงหลิวเฉ่า แปลตามตัวว่า เจ้าชู้ แต่ไม่ใช่หญ้าเจ้าชู้ของเรา ไทยเรียกพืชชนิดนี้ว่า ช้อยนางรำ (Codariocalyx gyrans ) เดิมทีเราเดินมาเขาเปิดเพลงชนชาติไต่ดังลั่น ยอดไม้นี้แกว่งไปมา เราลองเปลี่ยนเป็นเพฃงสุนารีร้อง (เผอิญทูตทหารติดมา) มันก็เต้นรำ ตอนหลังไม่เปิดเพลงมันก็เต้น เห็นจะเป็นด้วยลมพัดเสียมากกว่า…” (จาก “ใต้เมฆที่เมฆใต้” ฉบับปกแข็ง ธันวาคม 2538 หน้า 148)
“…สวนพฤกษศาสตร์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งในสิงคโปร์ เราชมสวนอยู่พักหนึ่ง ดูต้นสาละซึ่งมีผลโตกว่าที่เคยเห็น เงาะป่า (pulasan), กันเกรา, ต้น double coconut, เป็นมะพร้าวแฝดมาจากเกาะ Seychelles 8 ปี จึงจะออกผลครั้งหนึ่ง เขาว่าเป็นยาสมุนไพร แต่ก็ยังไม่มีใครชิม, lipstick palm, หมากแดง, ปาล์มบังสูรย์, monkey pot, jelutong ทางใต้ของไทยมียางใช้ได้ เช่น ทำหมากฝรั่ง, โสกน้ำ, สวนปาล์มชนิดต่างๆ เช่น หลาวชะโอน, Sindora มะค่าแต้ ไปบริเวณที่เคยเป็นสวนเครื่องเทศที่เขาปลูกไว้ในป่า พวกเครื่องเทศที่เขาปลูกต้องการที่ร่ม จึงเป็นเรื่องที่ดีที่หลีกเลี่ยงการตัดไม้ทำลายป่าโดยให้ชาวบ้านมีอาชีพ…” (จาก “มนต์รักทะเลใต้” ฉบับปกแข็ง เมษายน 2540 หน้า 27-28)
“…ไปที่ Bank’s Building ซึ่งที่จริงเคยดูแล้วเมื่อคราวก่อน ดูวัตถุต่างๆ ที่ทำจากพืช เช่น ผ้าใยสับประรดของฟิลิปปินส์ กระดาษสาขากเขตแปซิฟิก ของที่มาจากไทยมี ตุ๊กตากบทำด้วยรากลำพู ฝ้าย ใบยาสูบ บุหรี่มวนใบตอง เส้นไหมย้อมด้วยฝาง คราม ยาดมส้มมือ ผลมะตูม ใบมะกรูด พืชต่างๆ เหล่านี้ เขาทำทะเบียนป้อนเข้าคอมพิวเตอร์ ขณะนี้มีประมาณ 23,000 ชื่อ เขามีเจ้าหน้าที่ศึกษาเอกสารโบราณที่กล่าวถึงการใช้ประโยชน์พืชชนิดต่างๆ นักพฤกษศาสตร์เหล่านี้ต้องทำตัวเป็นนักประวัติศาสตร์ด้วย…” (จาก “ข้ามฝังแห่งฝัน” ฉบับปกแข็ง กรกฏาคม 2539 หน้า 11)
“…ต้นไม้ใหญ่ๆ มี Monkey Puzzle (Araucaria araucana (Molina) K.Koch) , Roble Beech (Nothofagus oblique (Mirb.) Bl.)ทั้งสองต้นมาจากอมริกาใต้ มีต้นเมเปิ้ลจากนอร์เวย์ (Acer plantanoides L. “Dissectum”) ต้นที่น่าสนใจที่สุดคือ Dawn Redwoods (Metasequota glyptostroboides Mu & Cheng) ต้นไม้ชนิดนี้เรียกกันว่าเป็น “ฟอสซิลมีชีวิต” เพราะแต่ก่อนนี้รู้จักแต่ที่เป็นฟอสซิลมีอายุ 200 ล้านปีมาแล้ว (สมัย Cretaceous) ในปี 1941 พบต้นไม้ที่ยังมีชีวิตอยู่ในจีนตอนกลาง นักพฤกษศาสตร์เก็บตัวอย่างและเก็บเมล็ดมาเพาะปลูกในอังกฤษ ในปี ค.ศ.1948…”
(จาก “ข้ามฝังแห่งฝัน” ฉบับปกแข็ง กรกฏาคม 2539 หน้า 52-53)
“…เรามีเวลาไม่มากนัก เลยดูพวกโรโดเดนดรอนและอีเลีย ส่วนมากมาจากเมืองจีน (มณฑลต่างๆ ของจีน) อินเดีย และพม่า มีหลากหลายอย่างตั้งแต่เป็นพืชเล็กๆ (Rhododendron fastigiatum Franch. และ R.radicans Balf.&Forr.) อยู่เขต alpine ชนิดที่เป็นพุ่มจนเป็นต้นไม้ใหญ่หลากสี ต้นใหญ่ๆ นี้มีลักษณะต่างๆ กันเป็นพิเศษแต่ละพันธุ์ เช่น Rhododendron barbatum G.don ต้นสีแดง นอกจากโรโดเดนดรอน ยังมีอย่างอื่น มีเมเปิ้ล เฟิร์นต้น ต้นไม้ที่มาจากลังกาก็ปลูกได้ (Rhododendron arboreum Sm.ssp. zeylanicum (Booth) Tagg.) ปลูกปี ค.ศ.1906 ต้นนี้ใหญ่ที่สุดที่มีในสหราชอาณาจักร…” (จาก “ข้ามฝังแห่งฝัน” ฉบับปกแข็ง กรกฏาคม 2539 หน้า 136-137)
“… ข้าพเจ้านั่งข้างๆ ประธานบริษัทเลยได้คุยกันเรื่องต่างๆ เขากล่าวว่า นอกจากเขาจะทำกิจการเกี่ยวกับปิโตรเลียมแล้ว ยังทำงานการรักษาสิ่งแวดล้อม รักษาความหลากหลายทางพันธุกรรมพืชอีกด้วย งานอนุรักษ์นี้เป็นงานที่ทำโดยไม่หวังผลกำไรจริงๆ เขาว่าทำในแถบทะเลเมดิเตอร์เรเนียน แถบนั้นผลไม้มาก บางอย่างก็แทบจะสูญพันธุ์ไปแล้ว เช่น เชอรี่มีเป็นร้อยชนิด แต่ชนิดที่รับประทานอร่อยและมีในท้องตลาดมีเพียงไม่กี่ชนิด ก็ต้องทำแปลงพันธุ์ทั้งหมด เก็บพันธุ์ที่หายากเอาไว้ด้วย นอกจากเก็บไว้ในแปลงแล้ว ยังมีการเก็บเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อเอาไว้ด้วย ข้าพเจ้าสนใจมาก เพราะฟังแล้วคล้ายๆ กับงานที่พวกข้าพเจ้ากำลังทำในเรื่องปกปักรักษาพันธุกรรมพืชชนิดต่างๆ ทั้งที่เป็นพันธุ์ดีและไม่ดี ตอนหลังได้ความว่า เขาก็ไปกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเรื่องนี้เช่นเดียวกัน…” (จาก “สวนสมุทร” ฉบับปกอ่อน กันยายน 2539 หน้า 15-16)
“…มาตรการอีกอย่างหนึ่งคือการปรับปรุงภูมิประเทศเตรียบรับมือกับปัญหา ศูนย์อนุรักษ์พรรณพืชปอร์เกอรอลส์ ร่วมมือกับหน่วยงาน I.N.R.A.ของกระทรวงเกษตรที่ Antibes ค้นคว้าวิจัยหาพืชพื้นเมืองที่สามารถต้านทานมลภาวะได้ มาปลูกเป็นแนวป้องกันได้แก่ ต้นเคราจูปีเตอร์ (Anthyllis barba-jovis L. JUPITER’S BEARD) วงศ์ LEGUMINOSAE วงศ์ย่อย PAPILIONOIDAEAE เป็นพืชตระกูลถั่วสามารถตรึงไนโตรเจนมาเป็นประโยชน์แก่พืชได้ และต้น Cineraria maritima L. วงศ์ COMPOSITAE ปลูกในบริเวณที่มีดินเลวมีหินมาก สำหรับบริเวณที่เป็นทราย โดยเฉพาะอย่างยิ่งทรายเค็ม ต้องปลูกพืชสกุล Limoniastrum วงศ์ PLUMBAGINACEAE และสกุล Tamarix วงศ์ TAMARICACEAE ต้องปลูกต้นไม้ที่เป็นพวกไม้เบิกนำ คือ ต้องทนความร้อน ทนหมอกที่มีมลภาวะ ทนลมแรง ทนความเค็ม ดินขาดสารอินทรีย์วัตถุ..
…แถวๆ นี้มีพืชอีกอย่างที่ขึ้นในที่ซึ่งพืชอื่นขึ้นไม่ได้ ได้แก่ Carpobrotus edulis (L.) L.Bol. วงศ์ AIZOACEAE ภาษาสามัญว่า”กรงเล็บแม่มด” griffe de sorciere มาจากแอฟริกา เป็นวัชพืชกินได้ แต่แย่ มีแต่พวก ฮอตเตนตอต (Hottentot) ในแอฟริกาที่ชอบกิน ข้าพเจ้าลองชิมดูรู้สึกว่าแย่…” (จาก “สวนสมุทร” ฉบับปกอ่อน กันยายน 2539 หน้า 45-49)
“… ในหอพรรณไม้ (พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กรุงปารีส) มีตัวอย่างพืช 8 ล้านชนิด (เฉพาะ plantes vasculaires ทั้งหมดที่เขามีตัวอย่างพืช 12 ล้านตัวอย่าง) อยู่ในตึก 4 ตึก เนื้อที่ 2,000 ตารางเมตร ข้าพเจ้าได้ดูพืชต่างๆ ที่เขาเก็บไว้ เช่น ดอกบัวสายจากแม่น้ำไนล์ สีน้ำเงิน เป็นบัวในวงศ์NYMPHAEACEAE พบในหีบมัมมี่ของพระเจ้ารามเสสที่ 2 มีอายุประมาณ 4,000 ปีมาแล้ว.. ชั้นหนึ่ง มีตัวอย่างพืชมากที่มาจากไทยก็มี เชน ต้นขี้เหล็กบ้าน ได้มาเมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ.1886 โดยแลกมาจากสวนคิวหรือบริทิชมิวเซียม เป็นงานสะสมของ Dr.Kai Larzen นักพฤกษศาสตร์ชาวเดนมาร์ค ที่มาทำงานร่วมกับกรมป่าไม้ของไทยอยู่เกือบ 30 ปี…” (จาก “สวนสมุทร” ฉบับปกอ่อน กันยายน 2539 หน้า 80-82)
นอกจากจะทรงงานพฤกษศาสตร์ในป่าและทรงศึกษาตัวอย่างพรรณไม้แห้ง (Herbarium specimen) ณ หอพรรณไม้ภายในประเทศแล้ว สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จพระราชดำเนินป่าในต่างประเทศ และทอดพระเนตรสวนพฤกษศาสตร์ สวนรุกขชาติ สวนรมณีย์ และพิพิธภัณฑ์หอพรรณไม้ของต่างประเทศที่มีชื่อเสียงอีกหลายแห่งทั่วโลก เช่น สวนพฤกษศาสตร์แห่งชาติ สาธารณรัฐสิงคโปร์, สวนพฤกษศาสตร์บอกอร์ อินโดนีเซีย, สวนพฤกษศาสตร์การแพทย์(สมุนไพร) สิบสองปันนา สวนพฤกษศาสตร์เขตร้อนสิบสองปันนาและสถาบันวิชาการพฤกษศาสตร์ นครคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน, พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาแห่งชาติกรุงปารีส, ศูนย์อนุรักษ์พรรณพืชแห่งชาติเกาะปอร์ เกอรอลส์ ประเทศฝรั่งเศส, สวนพฤกษศาสตร์คิว กรุงลอนดอน, หอพรรณไม้ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา กรุงลอนดอน, สวนพฤกษศาสตร์เอดินเบอระ สวนพฤกษศาสตร์มหาวิทยาลัยอเบอร์ดีน สวนพฤกษศาสตร์ Inverew สหราชอาณาจักร, ป่าแปก (ป่าสนเขา) เมืองเพียงนากาย แขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ฯลฯ ระหว่างเสด็จพระราชดำเนิน ทรงแสงถึงพระปรีชาสามารถด้านพฤกษศาสตร์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่ชาวต่างประเทศ พระองค์ทรงจดบันทึกข้อมูลพรรณพฤกษชาติต่างถิ่นโดยละเอียด เปรียบเทียบกับพรรณไม้ของประเทศไทย บางวโรกาสได้ทรงจัดเตรียมอัดตัวอย่างพรรณไม้แห้งที่ทรงเก็บมาศึกษาระหว่างเสด็จพระราชดำเนินป่าด้วยพระองค์เอง นอกจากนี้ระหว่างการเสด็จเยือนต่างประเทศ ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้รวบรวมพรรณไม้ที่หายากและมีศักยภาพในการใช้ให้เกิดประโยชน์ทางเศรษฐกิจแบะด้านการอนุรักษ์ของประเทศต่างๆ นำมาปลูกไว้ในแปลงรวบรวมพันธุ์นอกถิ่น (ex-situ conservation) ที่โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา และพื้นที่โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตามภาคต่างๆ ของประเทศ เช่น กล้วยป่าหรือกล้วยดารารัศมี (Musella lasiocarpa ) ของมณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน, กล้วยป่า (Musa fei ) ของประเทศหมู่เกาะคุก ภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิคใต้, แฝกพันธุ์ฟิจิ (Vertiveria zizanioides ), อ้อยป่า (Saccharum edule ) ของสาธารณรัฐฟิจิ, พริกไทยป่า หรือ Kawa (Piper methysticum ) ของราชอาณาจักรตองกา และพืชจิมโนสเปอร์ม จำพวก Yew (Taxus yunnanensis ) ที่เป็นสมุนไพรใช้ต้านมะเร็งของมณฑลยูนนาน เป็นต้น
       สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระราชประสงค์ที่จะใช้พื้นที่ว่างทุกตารางวาให้เป็นประโยชน์ต่อการรวบรวมพรรณพืช ทรงปลูกและรวบรวมพืชผักสวนครัว เพื่อตกแต่งดาดฟ้าตึกชัยพัฒนา ซึ่งเป็นอาคารทรงงานภายในสวนจิตรลดาแทนไม้ดอกไม้ประดับ โดยทรงใช้ภาชนะบรรจุผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์แล้วมาแทนกระถางปลูก ดังบทพระนิพนธ์ของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ ที่ว่า
ทำสวนครัวทั่วถ้วน  ทิศทาง เถิดไทย
ขาดที่มีกระถาง        ปลูกได้
โถถังตุ่ม รังราง        โอ่งอ่าง ไหเอย
กระบะกระชุครุใช้    ปลูกสร้าง สวนครัว
          และโปรดให้เขียนป้ายติดไว้ตามภาชนะปลูก ระบุชื่อสามัญ ชื่อวิทยาศาสตร์ ลักษณะ ประโยชน์ และสรรพคุณไว้ด้วยสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงตระหนักถึงความขาดแคลนข้อมูลพฤกษศาสตร์พื้นฐานเกี่ยวกับทรัพยากรพรรณพืชและนักพฤกษศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญของประเทศ แม้ว่าประเทศไทยจะมีความหลากหลายของพรรณไม้และป่าไม้ มีความสำคัญของพื้นที่ประเทศที่เป็นถิ่นฐานของความหลากหลายทางชีวภาพ แต่งานค้นคว้าวิจัยด้านพฤกษศาสตร์และการผลิตบุคคลากรผู้เชี่ยวชาญทางพฤกษศาสตร์ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร ทั้งจากแหล่งเงินทุนภายในประเทศและต่างประเทศ การสำรวจและค้นคว้าวิจัยพรรณพฤกษชาติของประเทศไทยได้ตีพิมพ์เผยแพร่มีเพียงร้อยละ 30 ของพรรณไม้ทั่วประเทศ เหล่านี้เป็นประเด็นขัดแย้งอย่างยิ่งต่อความสนใจในการพัฒนาพรรณพืชพื้นเมืองที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานกระแสพระราชดำริหลายประการในการสร้างสรรและพัฒนาทางวิชาการพฤกษศาสตร์ของประเทศไทย อีกทั้งพระราชทานทุนการศึกษา สนับสนุนให้นักพฤกษศาสตร์ของกรมป่าไม้ เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศขั้นปริญญาเอก สาขาพฤกษศาสตร์ จำแนกพวก พระองค์ทรงห่วงใยแบะมีพระราชดำริที่จะปลูกฝังเด็กนักเรียนให้เกิดความรักต้นไม้ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม ได้พระราชทานข้อแนะนำให้ติดป้ายชื่อต้นไม้ควบคู่ไปกับการสังเกตลักษณะของพืชนั้นๆ อีกด้วย โรงเรียนหลายแห่งได้จัดสร้าง “สวนพฤกษศาสตร์โรงเรียน” ตามแนวพระราชดำริฯ เพื่อรวบรวมและอนุรักษ์พืชพื้นเมืองที่ใช้เป็นพืชอาหาร พืชสมุนไพร พืชแครื่องเทศ พืชเศรษฐกิจ ฯลฯ นอกจากนี้ยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานแนวพระราชดำริให้จัดทำฐานข้อมูลพรรณไม้ขึ้น โดยให้มีโปรแกรมที่สามารถแสดงลักษณะของพืชพรรณเป็นภาพสีได้ เพื่อความสะดวกต่อการค้นคว้าอ้างอิง
       วงการพฤกษศาสตร์ของประเทศไทย ได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นล้นพ้นจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี การเสด็จพระราชดำเนินป่าศึกษาธรรมชาติพรรณไม้และป่าไม้ เป็นที่ประทับใจและซาบซึ้งของพสกนิกรชาวไทย ภาพที่พระองค์ทรงเสด็จลุยลำธาร ทรงปีนป่ายไปตามโขดหินธารน้ำตก ทรงแบกเป้อันหนักอึ้ง ทรงสะพายย่าม แม้กระทั่งทรงประกอบพระกระยาหารอย่างง่ายๆ ในป่าด้วยพระองค์เอง พระราชจริยาวัตดังกล่าว จะเป็นขวัญและกำลังใจให้นักพฤกษศาสตร์และบรรดาคณาจารย์พฤกษศาสตร์ทั้งหลายทั้งปวงได้ทำงานสำรวจค้นคว้าวิจัยพรรณพฤกษชาติของประเทศไทยอย่างทุ่มเทกำลังกายกำลังใจ เต็มสติปัญญา และความสามารถ เพื่อสนองพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เจ้าฟ้าหญิงฯ ล้นเกล้าของชาวไทยทั้งชาติ ขอจงทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เป็นมิ่งขวัญและทรงเป็นผู้นำพระราชความคิดความอ่านอันลึกซึ้งต่อพสกนิกรชาวไทยตลอดไปอีกนานเท่านาน

 

บทความโดย ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ธวัชชัย สันติสุข ราชบัณฑิตประเภทวิทยาศาสตร์ชีวภาพ สาขาพฤกษศาสตร์ จากหนังสือราชสดุดีเฉลิมพระเกียรติ
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี วิทยาศาสตร์บัณฑิตกิตติมศักดิ์ (พฤกษศาสตร์) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ 24 กรกฏาคม 2540
ที่มา : http://www.rspg.or.th/specials/hrs/hrs_bd2551.htm

อุทยานแห่งชาติภูเรือ จังหวัดเลย กำลังทอดพระเนตร
ใบก่อแพะ (Quercus Kerii) 12 กุมภาพันธ็ 2534


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย 13 กุมภาพันธ์ 2534

บริเวณโคกนกบา เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลยกุหลาบแดง (

Rhododendron simsii) กำลังบานสะพรั่ง
13 กุมภาพันธ์ 2534

บริเวณลานสุริยัน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย
ด้านข้างโขดหิน คือ เอื้องตาเหิน (
Dendrobium infundibulum)
13 กุมภาพันธ์ 2534


เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูหลวง จังหวัดเลย ทรงร่างภาพกล้วยไม้
เอื้องสีลา (
Tainia penangiana ) 13 กุมภาพันธ์ 2534 


ในป่าชายหาด อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา
12 พฤศจิกายน 2539

บริเวณสวนไผ่ของสวนพฤกษศาสตร์เขตร้อน สิบสองปันนา
มณฑลยูนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน 4 มีนาคม 2538


พิพิธภัณฑ์หอพรรณไม้ มหาวิทยาลัยอเบอร์ดีน สหราชอาณาจักร
6 กรกฏาคม 2538 


ในป่าชายหาด อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ จังหวัดพังงา
12 พฤศจิกายน 2539